6 วิธีดูแลผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัยจากเชื้อร้ายโควิด-19

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ติดต่อได้ทางละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม หรือการพูดคุยในระยะใกล้ชิด ผู้ที่ได้รับเชื้อมีทั้งแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นนั้นก็แตกต่างกันไป

หากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง อาจเกิดอันตรายได้มากกว่าคนทั่วไป ยิ่งในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หากมีการติดเชื้อจะยิ่งมีความอันตราย วันนี้ Fasicare มีวิธีดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มาฝากค่ะ

หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน รักษาระยะห่าง (social distancing)
ลดกิจกรรมการออกนอกบ้านของผู้สูงอายุให้น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรค ใช้การติดต่อธุระทางโทรศัพท์ หรือ social media แทน หากมีคนมาที่บ้านเพื่อเยี่ยมผู้สูงอายุ ควรสวมหน้ากากอนามัย ลดการสัมผัส และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หากบุคคลที่มาเยี่ยมผู้สูงอายุมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ต้องแยกตัวไม่เข้าไปไกล้ชิดกับผู้สูงอายุอย่างเด็ดขาด

สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และใช้เจลล้างมือ
หากผู้สูงอายุมีธุระจำเป็นต้องออกนอกบ้าน เช่น ออกไปพบแพทย์ ต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง พกเจลแอลกอฮอล์ไว้ใช้เมื่อต้องสัมผัสกับวัตถุที่อาจนำเชื้อโรคมาสู่ร่างกาย หรือล้างมือด้วยการฟอกสบู่ประมาณ 20 วินาทีและล้างออกด้วยน้ำสะอาด ควรเลือกเวลาออกจากบ้านในช่วงเวลาที่ไม่ต้องเจอกับความแออัด หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน รีบทำธุระให้เสร็จ เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำสระผมทำความสะอาดร่างกาย รวมถึงของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที

แยกสำรับอาหาร และใช้ช้อนกลาง     
เพื่อป้องกันเชื้อโรค ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยแยกสำรับอาหาร และไม่ใช้ภาชนะหรือช้อนร่วมกัน อาหารสำหรับผู้สูงอายุควรปรุงสุกใหม่ สะอาด เน้นให้ผู้สูงอายุได้รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ไข่ไก่ เนื้อไก่ เนื้อปลา เต้าหู้ และจัดให้มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายของผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ครบตามความต้องการของร่างกาย

ทำความสะอาดบ้าน เน้นพื้นผิวที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ
หมั่นดูแลทำความสะอาดภายในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โดยเช็ดตามสวิตช์ไฟ ลูกบิดประตู โต๊ะทำงาน เก้าอี้ รีโมท โทรศัพท์ พื้นห้อง โถส้วม ปุ่มกดน้ำชักโครก ฟักบัว ก๊อกน้ำ รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นสามารถเกาะอยู่บนพื้นผิวของวัตถุได้นานหลายวัน

ดูแลผู้สูงอายุไม่ให้เกิดความเครียด
ผู้สูงอายุบางรายอาจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จนเกิดความเครียด ควรจำกัดให้ผู้สูงอายุติดตามข้อมูลประมาณวันละ 2 ครั้ง อาจเป็นช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อลดความวิตกกังวลจากการรับข่าวสารที่มากจนเกินไป พูดคุยกับผู้สูงอายุในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือให้ท่านได้ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ดูทีวี และพักผ่อนให้เพียงพอ หากผู้สูงอายุมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ กังวล โกรธง่าย วิตกเกี่ยวสถานการณ์โควิด สามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 เพื่อขอคำแนะนำได้ หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422 หากกังวลว่ามีอาการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

สังเกตอาการของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ
การสังเกตอาการของผู้สูงอายุว่ามีอาการติดไวรัสโควิด-19 สามารถสังเกตได้จากอาการไข้ตั้งแต่ 37.2 องศาเซลเซียสขึ้นไป รวมถึงมีการไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว โดยสามารถวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลทางช่องหู หรือเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย/วัตถุ แบบอินฟราเรดแบบไม่สัมผัสร่างกาย เพื่อสังเกตอาการเบื้องต้น หากผู้สูงอายุมีอาการที่คาดว่าน่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อาการของโรคอาจไม่ชัดเจน เช่น อาจไม่มีไข้ หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึมสับสนเฉียบพลัน มีอาการที่เปลี่ยนไปจากปกติอย่างเห็นได้ชัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาการของโรคในผู้สูงอายุมักจะรุนแรงกว่าคนในวันอื่น

 

ในระหว่างที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส ควรดูแลผู้สูงอายุไม่ให้พบปะกับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น ใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง และพกเจอแอลกอฮอล์ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อลดความเครียดจากการติดตามข่าวสาร หมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุ หากมีความกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด สามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรคเพื่อลดอาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้น