เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า VS เตียงผู้ป่วยแบบธรรมดา เลือกซื้ออย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า VS เตียงผู้ป่วยแบบธรรมดา เลือกซื้ออย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

เทคนิคการเลือกซื้อ เตียงผู้ป่วย ให้คุ้มค่า ตรงใจ และตอบโจทย์การใช้งาน

เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า

การนอนหลับ เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อการฟื้นฟูเยียวยาร่างกาย สมอง และจิตใจ ให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์เรามักจะใช้เวลาไปกับการนอนหลับประมาณ 8 ชั่วโมง หรือราว 1 ใน 3 ของแต่ละวัน ดังนั้น การเลือกเตียงนอนที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้การนอนหลับพักผ่อนมีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย การเลือกใช้เตียงนอนในรูปแบบของเตียงผู้ป่วยที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้สอดรับกับสรีระร่างกาย จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ และช่วยทำให้ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วย สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

เตียงผู้ป่วยมีประโยชน์อย่างไร ?

เตียงผู้ป่วย เป็นเตียงที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการใช้งานสำหรับการพักฟื้นของผู้ป่วย รวมถึงการใช้งานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันแก่ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ดังนั้น เตียงผู้ป่วยจึงมีกลไกมากมายที่ถูกติดตั้งเข้ามาเพื่อช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเตียงนอนแบบปกติทั่วไป อาทิเช่น การปรับส่วนหัว ส่วนท้าย หรือปรับระดับความสูง-ต่ำของเตียง เมื่อต้องการจะรับประทานอาหาร หรือลุกขึ้นนั่ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

ประเภทของเตียงผู้ป่วย

การเลือกเตียงผู้ป่วยให้เหมาะสมกับประเภทและผู้ใช้งานนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น เตียงผู้ป่วยแต่ละประเภทจึงถูกออกแบบมาให้มีรายละเอียดและคุณสมบัติในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้อย่างเหมาะสม

การแบ่งประเภทของเตียงผู้ป่วยตามระบบการใช้งาน สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

  1. เตียงผู้ป่วยแบบมือหมุน (Manual Hospital Bed) หรือเตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลเป็นเตียงผู้ป่วยชนิดที่ต้องอาศัยแรงในการหมุนเพลาเพื่อปรับระดับส่วนหัว ส่วนท้าย และระดับความสูง-ต่ำของเตียง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปรับระดับเตียงได้ด้วยตนเอง เตียงผู้ป่วยประเภทนี้จึงมีน้ำหนักเบา ราคาไม่สูง เหมาะสำหรับครอบครัวของผู้ป่วยที่มีงบประมาณน้อย หรือผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องปรับท่าทางบ่อยมากนัก
  2. เตียงคนไข้ไฟฟ้า (Electric Hospital Bed)
    เป็นเตียงผู้ป่วยที่มีกลไกการปรับระดับเตียงต่าง ๆ ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยรีโมททั้งแบบมีสายและบุ่มควบคุมที่ราวปีกนก โดยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้เตียงผู้ป่วยไฟฟ้าสามารถควบคุมผ่านสมาร์ตโฟนได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับระดับเตียงได้ด้วยตนเองได้ จึงช่วยลดภาระของผู้ดูแล และช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง

การแบ่งประเภทของเตียงผู้ป่วยตามลักษณะฟังก์ชัน สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. เตียง 2 ไกร์ เป็นเตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับระดับได้ 2 ส่วน ได้แก่ ระดับช่วงหลัง 0-75 องศา และระดับช่วงขา 0-40 องศา
  2. เตียง 3 ไกร์ เป็นเตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับระดับได้ 3 ส่วน ได้แก่ ระดับช่วงหลัง 0-75 องศา ระดับช่วงขา 0-40 องศา และสามารถปรับระดับความสูง-ต่ำของเตียงได้ 40–72 เซนติเมตร ซึ่งการปรับระดับความสูง-ต่ำของเตียงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลในขณะที่รับประทานอาหาร เช็ดตัว หรือทำการนวด เป็นต้น
  3. เตียง 5 ไกร์ เป็นเตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับได้ 5 ระดับ โดยสามารถเลือกการปรับได้ 2 รูปแบบตามลักษณะของผู้ป่วย ได้แก่
  • แบบที่ 1 เตียงผู้ป่วยที่ออกแบบมาให้สามารถปรับความลาดเอียงของช่วงศีรษะและเท้าได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ดูแลสามารถนวดหรือทายาให้ผู้ป่วยได้อย่างสะดวก โดยสามารถปรับช่วงหลังได้ 0-85 องศา ปรับช่วงขาได้ 0-20 องศา ปรับความลาดเอียงช่วงศีรษะได้ 0-12 องศา ปรับความลาดเอียงช่วงปลายเท้าได้ 0-12 องศา และปรับระดับความสูง-ต่ำของเตียงได้ 40-70 เซนติเมตร
  • แบบที่ 2 เตียงผู้ป่วยที่ออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับถ่ายได้เอง โดยสามารถปรับเป็นท่านั่ง และมีช่องเปิด-ปิดสำหรับขับถ่ายโดยเฉพาะ สามารถปรับตะแคงข้างซ้ายและขวาซึ่งเพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนท่านอนของผู้ป่วย และสามารถปรับเพื่อสระผมให้ผู้ป่วยได้อีกด้วย โดยสามารถปรับช่วงหลังได้ 0-85 องศา ปรับช่วงขาได้ 0-20 องศา ปรับเป็นท่านั่งได้ 0-60 องศา ปรับตะแคงซ้ายได้ 45 องศา และปรับตะแคงขวาได้ 45 องศา

การเลือกซื้อเตียงผู้ป่วย ควรเลือกซื้อเตียงผู้ป่วยแบบธรรมดา หรือเตียงพยาบาลไฟฟ้า

การเลือกซื้อเตียงผู้ป่วยแบบธรรมดาหรือแบบเตียงผู้ป่วยไฟฟ้า ควรเลือกพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของผู้ใช้งาน โดยสามารถเลือกพิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. พิจารณาจากความจำเป็นในการใช้เตียงของผู้ป่วย
    สำหรับผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ควรเลือกใช้เตียงพยาบาลไฟฟ้าประเภท 3 ไกร์ หรือ 5 ไกร์ ซึ่งสามารถปรับระดับความสูง-ต่ำของเตียงได้ เพื่อช่วยลดภาระของผู้ดูแลในการยกหรือเคลื่อนย้ายร่างกายของผู้ป่วย ในกรณีของผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น สามารถขยับลุกขึ้นนั่งหรือลุกจากเตียงได้เอง สามารถเลือกใช้เตียงผู้ป่วยได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากต้องการให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพให้แข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น ควรเลือกใช้เตียงพยาบาลไฟฟ้าเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น
  2. พิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้งาน
    สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจะต้องใช้เตียงผู้ป่วยในระยะยาว หรือผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องนอนอยู่บนเตียงมากกว่า 15 ชั่วโมงต่อวัน ควรเลือกใช้เตียงผู้ป่วยไฟฟ้าเนื่องจากมีความทนทาน และสามารถช่วยลดภาระของผู้ดูแลในการหมุนปรับระดับเตียง รวมถึงการประคองเคลื่อนย้ายร่างกายผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับได้
  3. พิจารณาจากน้ำหนักของผู้ป่วย
    เนื่องจากเตียงผู้ป่วยแต่ละประเภทนั้นสามารถรองรับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้ต่างกัน ดังนั้น ก่อนการเลือกซื้อเตียงจึงควรคำนวณน้ำหนักของฟูกนอน เตียง และผู้ป่วย ร่วมกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำหนักการรองรับผู้ป่วยควรอยู่ที่อย่างน้อย 20-25 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักเตียง

ข้อดีของการเลือกใช้เตียงคนไข้ไฟฟ้า

  1. มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากสามารถปรับระดับความสูง – ต่ำของเตียงได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเลือกปรับระดับเตียงให้พอดีกับเท้าในขณะที่กำลังจะลุกขึ้นนั่งหรือยืน เพื่อความปลอดภัย และมีราวข้างเตียงที่ช่วยในการจับยึดพยุงตัว ทำให้สามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคง และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
  2. สะดวกสบาย เพราะเตียงผู้ป่วยไฟฟ้ามีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกปรับเองได้อย่างง่ายดายเพียงแค่กดปุ่มที่รีโมท
  3. การใช้เตียงผู้ป่วยแบบธรรมดาอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงข้อจำกัดในการลุกขึ้นนั่งหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการใช้เตียงคนไข้ไฟฟ้าแล้วนั้น ผู้ป่วยที่ใช้เตียงคนไข้ไฟฟ้าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระให้กับผู้ดูแล และช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง

คุณสมบัติของเตียงผู้ป่วยที่เหมาะสม

  1. การเลือกซื้อเตียงผู้ป่วย ควรเลือกซื้อเตียงที่ทำจากวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่เป็นสนิมได้ง่าย และสามารถรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 150 กิโลกรัม ขึ้นไป
  2. มีความปลอดภัยในการใช้งาน โดยเตียงผู้ป่วยควรมีระบบล็อกล้อเตียงเพื่อป้องกันเตียงเคลื่อน และมีราวสไลด์หรือราวกันตก เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจับพยุงตัวลุกขึ้นจากเตียง และช่วยป้องกันการพลัดตกเตียงขณะนอนหลับ
  3. เตียงผู้ป่วยควรมีความกว้างประมาณ 3 – 3.5 ฟุต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพลิกตัว หรือ ลุกขึ้นนั่งทำกิจกรรมต่าง ๆ บนเตียง อาทิเช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือรับประทานอาหาร ได้อย่างสะดวก และควรมีความยาวประมาณ 180 เซนติเมตร ขึ้นไป เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด
  4. เตียงผู้ป่วยควรมีช่องว่างใต้เตียง เพื่อป้องกันการหกล้มเนื่องจากการเตะเตียง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะเมื่อลุกจากเตียง ก็จะได้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการทรงตัวเนื่องจาก
  5. ความสูงของเตียงส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้น เตียงผู้ป่วย ควรมีความสูงจากพื้นประมาณ 40 เซนติเมตร หรือประมาณข้อพับเข่าของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถวางเท้าได้ถึงพื้น และลุกขึ้นยืนได้อย่างสะดวก ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการเสียการทรงตัวเนื่องจากเท้าไม่สามารถสัมผัสพื้นได้อย่างพอดีได้
  6. ควรเลือกซื้อเตียงผู้ป่วยจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่มีใบจดทะเบียนสถานประกอบการผลิต หรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ (อย.) โดยโรงงานของผู้ผลิตต้องได้รับมาตรฐานการผลิตจาก อย. หรือมาตรฐาน ISO 13485 (มาตรฐานคุณภาพการผลิตเครื่องมือแพทย์) รวมถึงมีมาตรฐาน IEC 60601-2-38 (มาตรฐานเตียงผู้ป่วย) หรือ IEC 60601-2-52 (มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้งาน)

ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของเตียงผู้ป่วย

  1. เตียงผู้ป่วยต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 90×200 เซนติเมตร
  2. มีความสูงจากพื้นถึงพื้นเตียง 25-40 เซนติเมตร และควรมีช่องว่างใต้เตียงเพื่อป้องกันการเตะขอบเตียง
  3. ความสูงของราวกั้นเตียงผู้ป่วยเมื่อวัดจากฟูก ไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
  4. วัสดุที่ใช้ผลิตมีความแข็งแรงทนทาน ไม่เป็นสนิมได้ง่าย พื้นผิวเรียบ ง่ายต่อการทำความสะอาด
  5. ระบุน้ำหนักสูงสุดที่เตียงสามารถรับได้ (Safe working load)

หลักการจัดวางเตียงผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

การจัดวางเตียงผู้ป่วยที่เหมาะสมควรวางให้เหลือพื้นที่ว่างรอบเตียงทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านซ้าย ด้านขวา และปลายเตียง อย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้ผู้ดูแลสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ง่าย และสามารถใช้อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น รถเข็นวีลแชร์ ได้อย่างสะดวก โดยวัสดุปูพื้นสำหรับห้องพักผู้ป่วยควรใช้เป็นสีโทนสว่าง มีพื้นผิวเรียบเสมอกัน และควรหลีกเลี่ยงการมีพื้นต่างระดับ รวมถึงการปูพรมเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม

สำหรับลูกค้าท่านไหนที่ต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำเพิ่มเติมในการเลือกซื้อเตียงผู้ป่วย ทาง Fasicare ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการลูกค้าทุกท่านด้วยความใส่ใจ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อเตียงผู้ป่วยได้ตรงตามความต้องการ และความเหมาะสมในการใช้งานมากที่สุด ตลอดจนการดูแลและให้บริการหลังการขาย รับรองได้ว่าทุกท่านจะได้รับแต่สิ่งที่ดี และคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไปที่สุดแน่นอน